เงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องจากบลจ.ขนาดใหญ่
บลจ.เกียรนาคินภัทรมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 4 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก และกองทุนตราสารทุน นำโดยกองทุนตราสารหนี้ KKP Fixed Income Plus 3.3 พันล้านบาท และกองทุน KKP NDQ100-Hedge 1.0 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามหากมองภาพ 9 เดือนจะพบว่า บลจ.แห่งนี้มีเงินไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านบาท
กองทุนจากบลจ.เอไอเอ ยังคงเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.3 พันล้านบาท นำโดย AIA Combined Aggressive Allocation 1.9 พันล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นบลจ.ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 8.3 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 17% จากสิ้นปี 2021
.
ในด้านเงินไหลออกสุทธิค่อนข้างคล้ายกับไตรมาสที่ 2 โดยมีบลจ.ขนาดใหญ่อยู่ในกลุ่มเงินไหลออกสูง และเป็นเงินจากกองทุนตราสารหนี้เป็นหลักเช่น บลจ.กสิกรไทย, บลจ.กรุงไทย, และบลจ.ไทยพาณิชย์ ที่มีเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาททั้ง 3 แห่ง
.
ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากท่าทีที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐที่มุ่งมั่นจะต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูง โดยได้มีการปรับดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และต่อสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่า นำไปสู่ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทางฝั่งประเทศจีนที่เศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะภาคอสังหาที่มียอดขายหดตัวมากที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่การบริโภคในประเทศยังมีปัจจัยกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้โดยรวมผลตอบแทนการลงทุนประเทศจีนยังติดลบต่อเนื่อง
.
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1.00% หรือปรับขึ้น 0.25% จากมุมมองของแบงก์ชาติถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในด้านการบริโภคและการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจากด้านอุปทานชะลอลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงและปัญหาห่วงโซ่อุปทานบรรเทาลง ในขณะที่ด้านอุปสงค์ไม่ถือว่าสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากนัก จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นไทยเป็นตลาดที่ถือว่า outperform หลายตลาด โดย SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 2.3% และ 9 เดือนอยู่ที่ -1.6% ในขณะที่ Morningstar Global Markets Index รอบ 9 เดือนอยู่ที่ -25.4%
.
กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 13.1% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน Money Market ยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 7.0 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย กลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.8 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% จากไตรมาสที่ 2
.
กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) กลับมามีเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยสะสมทั้งไตรมาสเป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.2 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 6.8%
กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 5.7% จากสิ้นปี 2021 แต่เพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ไปอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 พันล้านบาท รวมเงินไหลเข้าสุทธิ 9 เดือนที่ 4 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
.
กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.2 แสนล้านบาท หดตัวลง 11.6% จากสิ้นปี 2021 และลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิรอบ 9 เดือน 2.6 หมื่นล้านบาท

.
กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.7 แสนล้านบาท ลดลง 7.3% จากสิ้นปี 2021 หรือลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารทุน 1.4 พันล้านบาท นำโดยกองทุนหุ้นต่างประเทศ ขณะที่กองทุนหุ้นไทยเป็นเงินไหลออก
.
กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.8 แสนล้านบาท ลดลง 25.6% จากสิ้นปี 2021 และลดลง 7.4% จากไตรมาสก่อน มีเงินไหลออกสุทธิ 2.4 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 3 รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออก 1.9 หมื่นล้านบาท
.
กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.0% จากสิ้นปี 2021 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 80 ล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 637 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *