นางสาวปนัดดา ตัณฑ์ชาญชีวิน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายช่องทางการจัดจำหน่ายและธนบดีธนกิจ บลจ.อีสท์สปริง(ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงการลงทุนในปัจจุบันไว้ว่า ยังคงมีความผันผวน และ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวมากขึ้นประกอบกับยังมีปัจจัยที่กดดันการลงทุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว หรือแม้แต่สงครามรัสเซียยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แต่ในแง่หนึ่งบริษัทยังมองเห็นโอกาสการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้จัดงานสัมมนาและเปิดตัวกองทุนน้องใหม่กองทุนแรกที่เราออกในนาม บลจ.อีสท์สปริง(ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ กองทุน Eastspring Indonesia Active Equity Fund หรือ ES-INDONESIA
หลังจากนั้น ในช่วงหนึ่งของงานสัมมนา รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ได้กล่าวเน้นย้ำถึง 5 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อินโดนีเซียเนื้อหอมและกำลังเป็นที่จับตาอย่างมากในตอนนี้
หนึ่ง อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียมีประชากร 270 ล้านคน และประชากรเหล่านี้กำลังจะปรับจากรายได้ปานกลางระดับต่ำ lower middle income ไปเป็นรายได้ปานกลางระดับสูง upper middle income ซึ่งจุดเปลี่ยนตรงนี้จะทำให้กำลังซื้อของตลาดมีกำลังสูงขึ้นมาก
สอง อินโดนีเซียอุดมไปด้วยทรัพยกรธรรมชาติ ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เราเรียกว่า ring of fire หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก” ซึ่งในทางหนึ่งแม้จะดูว่าความเสี่ยงแต่ต้องไม่ลืมว่าใต้พื้นแผ่นดินเต็มไปด้วยแมกม่าและแร่ธาตุมากมายมหาศาล รวมไปถึง blue economy ที่หมายถึงการจัดการทรัพยากรท้องทะเล
สาม สัดส่วนแรงงานในประเทศยังอยู่ในอัตราที่สูง อินโดนีเซียเป็นประเทศอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นสังคมห้ามคุมกำเนิด ดังนั้นในเวลาที่สังคมโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่อินโดนีเซียกลับมีกำลังแรงงานในอัตราที่สูงมาก แต่จะยังมีแรงงานพอที่ทำงานได้ไปอีกอย่างน้อย 30 ปี
สี่ แนวโน้มที่จะกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสูง เพราะมีสำนักที่ปรึกษาหลายแห่งทำนายว่าในปี 2040-2050 อินโดนีเซียจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของโลก (เมื่อปรับ GDP ด้วยค่าเงินให้เท่าเทียมกันแล้ว)
สุดท้าย การวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน อินโดนีเซียมีการปฏิรูปเรื่องต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอินโดนีเซียมีแผนที่จะปฏิรูปกฎหมายและวางเรื่องสำคัญๆที่จะทำให้อินโดนีเซียทะยานขึ้นไปได้ในอนาคต
ต่อมา นายวสวัตติ์ บวรเสรีผไท ได้กล่าวเสริมว่า อินโดนีเซียมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลจากตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้แห่งอนาคต ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าในระยะถัดไปยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ EV นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซียนั้นยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่มีความเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในระยะนี้ ขณะที่ valuation ปรับตัวลงมาดูในระดับค่าเฉลี่ย 10 ปี ประกอบกับEarning Yield ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 6.6% ทำให้ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจลงทุนในขณะนี้ นอกจากนี้ตลาดหุ้นอินโดนิเซียยังมี correlation ที่ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นโลก ทำให้มีความเหมาะสมในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย
ในตอนท้ายของงานสัมมนา นายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ ได้กล่าวถึงกองทุน ES-INDONESIA ที่มีการเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 3-9 สิงหาคมนี้ว่า เป็นกองทุนที่น่าสนใจ และมีนโยบายลงทุนกองทุนหลักที่มีชื่อว่า “Fidelity Fund Indonesia Fund Class Y (USD) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80% ในรอบปีบัญชี โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับประเทศอินโดนิเซียที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและราคาไม่แพงเข้าพอร์ตลงทุนประมาณ 30-50 บริษัท
โดยกองทุนหลักให้ความสนใจในการกระจายการลงทุนในหุ้น 4 กลุ่ม 1.คุณภาพธุรกิจดี งบดุลแข็งแกร่ง 2.ปัจจัยพื้นฐานดีขึ้นตามวัฏจักรธุรกิจ 3.มีโอกาส Disrupt ธุรกิจอื่น และเติบโตสูง และ 4. มีโอกาสในการจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนในระดับสูง ซึ่งตัวอย่างหุ้นที่เข้าลงทุน ได้แก่ 1) Bank Mandarin Persero ธนาคารชั้นนำของอินโดนิเซียซึ่งได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลัง Covid รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อของคนอินโดนิเซียที่ยังอยู่ในระดับต่ำ2) GOTO ผู้ให้บริการ Digital Economy ครบวงจร เช่น เรียกแท๊กซี่ รับส่งอาหาร และอีคอมเมริ์ซ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงกระแสการบริโภคของคนหนุ่มสาวของอินโดนิเซียที่ต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คุณพงศ์สรรกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่จะให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในอินโดนิเซียได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะปัจจุบันมีเพียงกองทุนที่ลงทุนในอาเซียน หรือ จีน อินเดีย อินโดนิเซียเท่านั้นซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนในอินโดนิเซียเพียง 20-35% รวมไปถึง การกระจายการลงทุนในอินโดนิเซียอาจไม่ได้เพียงแต่สามารถสร้างการเติบโตของพอร์ตได้เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยในการลดความเสี่ยงของพอร์ตได้ด้วยเนื่องจากความสัมพันธ์ของตลาดอินโดนิเซียกับตลาดอื่นๆ ทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาและหรือกำลังพัฒนายังอยู่ในระดับต่ำ (Correlation < 0.5)