“ธนาคารกรุงไทย  เดินหน้าเติบโตสินเชื่ออย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  หนุนผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 2 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 8,358 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและสมดุลอย่างต่อเนื่อง ธนาคารควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3  รับมือความท้าทายภาวะเศรษฐกิจรอบด้าน 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นในทุกแพลตฟอร์ม ความถี่เข้าใช้งานมากขึ้น หนุนปริมาณธุรกรรมเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนถึงการวางยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ สามารถขยายความร่วมมือกับพันมิตรต่างๆได้หลากหลาย

ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน  สามารถเชื่อมโยง Ecosystem ต่างๆ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนมาตรการภาครัฐ บริการด้านสุขภาพ การออมและการลงทุน เช่น บริการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล บริการ Gold Wallet และสลากดิจิทัล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำสถิติขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และธนาคารเริ่มเห็นผลลัพธ์จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับความสมดุลระหว่างคุณภาพสินเชื่อและผลตอบแทน

จากความมุ่งมั่นดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของธนาคารดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย

รวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับร้อยละ 2.50  ประกอบกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี  รวมถึงค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงร้อยละ 0.7  ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.86 ลดลงจากร้อยละ 43.33 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 31.0 แต่ยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,358  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของสินเชื่อ และการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในภาพรวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.48 ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับคงที่จากไตรมาส 2 ปี 2564  

ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,669 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการตั้งสำรองไว้ในระดับสูง โดยธนาคารยังยึดหลักการทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพของสินทรัพย์  ประกอบกับติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs RatioGross) ร้อยละ 3.32 ลดลงเมื่อเทียบสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับร้อยละ 3.50 และยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3 เทียบกับร้อยละ 168.8 เมื่อสิ้นปี 2564

เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ถึงแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวได้ดีจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยึดหลักระมัดระวัง โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา

ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 328,287 ล้านบาท (ร้อยละ 15.98 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) และเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 413,559 ล้านบาท (ร้อยละ 20.13 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการเติบโตในอนาคต 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินกิจการได้มากขึ้น หลังจากทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ในรูปแบบ The New Kshaped Economy  ซึ่งเป็นภาพของเศรษฐกิจไทยเฟสใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย และยังมีความท้าทายจากแรงกดดันปัจจัยภายนอก  โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยืนอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุด เพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง รักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้า และ เตรียมพร้อมในการขยายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต 

ธนาคาร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเดินหน้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร ทั้ง Krungthai NEXT KrungthaiConnext  เป๋าตัง  และ ถุงเงิน 

โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ต่อยอดบริการผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการออมและการลงทุน ผ่านบริการวอลเล็ต สบม. บริการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล บริการ Gold Wallet  ช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเสมอภาค สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ลงทุนยุคใหม่  ล่าสุดมีบริการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (สลากดิจิทัล) ผ่านเป๋าตัง  ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานแอปฯเป๋าตังมากกว่า 34 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจับมือกับพันธมิตรทำโครงการ Point Pay  เปิดให้นำคะแนนสะสมของพันธมิตรมาใช้จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าถุงเงิน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับร้านค้ารายย่อย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้มียอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *