สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การวิเคราะห์ข้อมูล ESG และความเชื่อมโยงกับมูลค่าหลักทรัพย์” ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เพื่อสนับสนุนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม (ESG) และมีข้อมูลในการวิเคราะห์ด้าน ESG เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565

การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลและปัจจัยด้าน ESG ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ความเชื่อมโยงต่อมูลค่าหลักทรัพย์ และนำไปใช้ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แก่ผู้บริหารและบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ESG เป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานของทุกธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุน และบุคลากร จึงต้องตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจข้อมูล รวมทั้งบริการและผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้าน ESG เพื่อนำมาวิเคราะห์ ให้คำแนะนำ หรือตัดสินใจลงทุนอย่างเหมาะสม การทำหน้าที่ดังกล่าวของบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการลงทุนจะเป็นห่วงโซ่ของข้อมูล (sustainability-related information chain) สำคัญในการเสริมสร้างระบบนิเวศให้ตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนของภาคธุรกิจด้วย

ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ผู้วิเคราะห์การลงทุนจะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG กับผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า หากบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เช่น ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องปรับข้อสมมุติฐานในการคาดการณ์ผลการดำเนินงานทางการเงินในอนาคตอย่างไร การรู้จักวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG จึงเปรียบเสมือนเป็นกิจกรรมที่จะทำให้สามารถประเมินมูลค่าพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนต้องให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *