จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ
อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับสูง กดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เป็นต้นทุนการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 3 ขยับตัวขึ้นต่อ แต่ถึงกระนั้น การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วง
9 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าสูงเทียบเท่ากับมูลค่าการออกในปีที่แล้วทั้งปี สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งระดมทุนของผู้ออกภาคเอกชนเพื่อล็อคต้นทุนการกู้ยืมและสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมูลค่าการออก
ตราสารหนี้ของรัฐบาลและภาคเอกชนได้หนุนให้ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัว 4.5% ในช่วง 9 เดือนแรกนี้
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า
ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตต่อเนื่องแม้จะถูกกดดันจากการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 15.67
ล้านล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชนแม้ว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมูลค่าลดลงก็ตาม การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในช่วง 9 เดือนแรกนี้มีมูลค่าที่ 997,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 96% ของมูลค่าการออกในปีที่แล้วทั้งปี นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไป (PO) ในรูปแบบของหุ้นกู้ดิจิทัลเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรกปีนี้ มีหุ้นกู้ดิจิทัลเสนอขายรวมกัน 9 รุ่น รวมกับที่เสนอขายครั้งแรกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีหุ้นกู้ดิจิทัลเสนอขายบนแอปพลิเคชั่น “เป่าตัง” ทั้งหมด 10 รุ่น มูลค่ารวม 31,095 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ที่เพิ่มโอกาสในการลงทุนตราสารหนี้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ปรับตัวสูงขึ้นใน
ไตรมาส 3 ของปี 2565 จากการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงขยับตัวสูงขึ้นต่อ ทำให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ
2 ปี และ10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น123 bps. และ 132 bps. จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.88% และ 3.21% ณ สิ้นเดือนกันยายน ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3 จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ส่งผลให้การออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 32 pbs. จากเมื่อ
สิ้นไตรมาส 2 โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อันดับเครดิต AAA มีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.35% AA ที่ 3.68% A ที่ 3.89% BBB+ ที่ 5.03% และ BBB ที่ 5.98%
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในเดือนกรกฎาคม นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ
ตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ภายหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง ก่อนจะกลับเข้าซื้อสุทธิเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม แต่เมื่อเริ่มมีความชัดเจนในเดือนกันยายนว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการขายตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ทำให้ใน
ไตรมาส 3 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 3.25 หมื่นล้านบาท มียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.89 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุเฉลี่ยของ
ตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 8.5 ปี
ทั้งนี้ คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวเพิ่มเติม ว่าปี 2565 เป็นปีที่สามที่มูลค่าการออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท และจากการคาดการณ์การออกหุ้นกู้ในไตรมาส 4 เพื่อทดแทนรุ่นที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ข้อมูลหุ้นกู้ที่ได้ยื่นขอเสนอขายแล้ว ประกอบกับหุ้นกู้ที่อาจเสนอขายเพิ่มเติมเพื่อบริหารโครงสร้างทางการเงินและต้นทุน ทำให้คาดว่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปี 2565 จะทำสถิติการออกสูงสุดใหม่