- admin_outperform
- กรกฎาคม 15, 2022
- Latest Update: กรกฎาคม 15, 2022 9:23 am
- 158
- Less than a minute
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2565 ยังคงอ่อนแอ โดยแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะยังคงเติบโตได้ตามสินเชื่อ แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุน ซึ่งทำให้ประเมินว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในไตรมาส 2/2565 จะอยู่ที่ประมาณ 4.61 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน
• อย่างไรก็ดี คาดว่า สัดส่วน NPL ไตรมาส 2/2565 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 2.90-2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตามสัญญาณการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกของระบบธนาคารในภาพรวม
• ต่อภาพออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง แม้แรงกดดันต่อธุรกิจหลักอาจผ่อนคลายลงบางส่วนหากเศรษฐกิจทยอยมีสัญญาณดีขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีโจทย์ต่อเนื่องในการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางภายใต้สถานการณ์ที่แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศอาจเริ่มขยับขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกของธนาคารพาณิชย์ปรากฏขึ้นในผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากเพียงบางประเภท
รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ยังมีภาพอ่อนแอในไตรมาส 2/2565…รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยหดตัวต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากตลาดทุนที่ผันผวน
▪ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้จากธุรกิจหลักของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย 18 แห่ง) ในไตรมาส 2/2565 ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งถูกกดดันจากความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยรายได้ค่าธรรมเนียมมีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่อง [คาดการณ์ รายได้ค่าธรรมเนียมหดตัว 5.3% YoY ในไตรมาสที่ 2/2565] นำโดย ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนและบริการโอนเงินและเรียกเก็บเงินนอกจากนี้ความผันผวนของตลาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสยังมีผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินจากการ Mark to Market ด้วยเช่นกันส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้น อาจขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ [คาดการณ์ สินเชื่อไตรมาส 2/2565 เติบโตในกรอบ 5.7-6.0%YoY] นำโดย สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) มีแนวโน้มขยับขึ้นมาที่ 2.58% ในไตรมาสที่ 2/2565 จาก 2.55% ในไตรมาสแรกของปี
อย่างไรก็ดี ภาพในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์มีการเข้าดูแลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเร่งเข้าจัดการปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งการขาย NPLs การตัดหนี้สูญ และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งช่วยส่งผลทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2/2565 ทรงตัวอยู่ในกรอบ 2.90-2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงระดับ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2565 ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost)อาจชะลอลงมาที่ 1.20% ในไตรมาสที่ 2/2565 จาก 1.45% ในช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีคงต้องติดตามสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อในพอร์ต SMEs และรายย่อย อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด
จากภาพรวมรายได้จากการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบ ธ.พ. ไทยในไตรมาส 2/2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 19.6% เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในไตรมาสที่ 2/2564 ซึ่งมีการบันทึกรายการพิเศษกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง