บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เผยผลประกอบการไตรมาส 3/2565 กำไรสุทธิพุ่งแตะ 214.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 407% จากช่วงในปีก่อน และมีรายได้ค่าผ่านทาง 502.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175% จากช่วงปีก่อน เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางยกระดับเพิ่ม หลังเปิดเมือง-ต่างชาติคัมแบ็ค
โชว์ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไร้ภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ย หนุนต้นทุนทางการเงินลด ฟาก MD “ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย” มั่นใจรายได้ค่าผ่านทางในปีนี้เข้าเป้าอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 50% อานิสงส์ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 บริษัทฯ มีรายได้ค่าผ่านทาง 502.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175% จากช่วงปีก่อนที่มีรายได้ 182.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 214.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 407% จากช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 42.27 ล้านบาท
โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 ปริมาณการจราจรรวมสัมปทานเดิมและตอนต่อขยายด้านทิศเหนือเฉลี่ยต่อวันมีจำนวน 92,477 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ที่มีจำนวน 79,487 คันต่อวัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 16.3% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ที่มีจำนวน 34,870 คันต่อวัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 165.2%
“ผลประกอบการในไตรมาส 3/2565 เติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางยกระดับที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น โดยปี 2565 ภาครัฐไม่มีมาตรการการจำกัดการเดินทาง และบริษัทฯดำเนินการบริหารการจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มจุดแข็งในสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเป็นบริษัทฯที่ไม่มีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ย หรือ Debt-Free Company ส่งให้บริษัทฯมีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวตลอดอายุสัมปทาน” ดร.ศักดิ์ดา กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้ค่าผ่านทาง 1,280.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากช่วงปีก่อนที่มีรายได้ 817.59 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 544.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% จากช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 248.51 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวอีกว่า บริษัทฯยังคงดำเนินธุรกิจบนหลักการการบริหารจัดการและการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก สามารถวางรากฐานการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยการส่งมอบคุณค่าในด้านต่างๆ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นรูปธรรม สามารถบริหารจัดการเพื่อให้ประสิทธิภาพในการให้บริการทางยกระดับเป็นไปตามมาตรฐาน ด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป
ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนปี 2565 ประกอบไปด้วย โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำใต้ทางแยกสุทธิสาร ระยะทาง 1,650 เมตร กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน โครงการงานปรับปรุงทาสี ZINC เสาไฟแสงสว่าง เฟสที่ 1 (จำนวน 370 ต้น) กำหนดแล้วเสร็จตุลาคม 2565 การพัฒนาการชำระด้วย QR Payment
โครงการศึกษา ทดลอง/ทดสอบและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ “แบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow)” ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ระบบMLFF ตาม Specification ของ Single Platform เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอการทดสอบการเชื่อมต่อกับระบบSingle Platform ของกรมทางหลวง รวมทั้งมีการเตรียมการปรับปรุงระบบNetwork System เพื่อรองรับระบบ M-Flow บนทางยกระดับอุตราภิมุข ทั้ง 9 ด่าน และติดตั้งระบบ M-Flow ต่อไป
ดร.ศักดิ์ดา กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ค่าผ่านทางในปีนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.25 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท เนื่องจากประเมินแนวโน้มปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ผลจากปัจจัยบวกที่ภาครัฐสร้างความมั่นใจให้เกิดกิจกรรมการเดินทางที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นหลังจากภาครัฐประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และยกเลิกมาตรการทุกอย่างที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น
และปัจจัยบวกจากการเดินทางของสนามบินดอนเมือง ที่มีการคาดการณ์ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยจะเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคนในปี 2565 และ 28.3 ล้านคนในปี 2566 หลังจากรัฐบาลจีนมีแนวโน้มเริ่มเปิดประเทศผ่อนคลายการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ หากภาครัฐได้เปิดให้สายการบินระหว่างประเทศกลับมาบินเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจำนวนเที่ยวบินที่สนามบินดอนเมืองจะมีจำนวนมากขึ้น จะทำให้ปริมาณจราจรบนทางยกระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ