อพท. สุโขทัย นำชุมชน-ผู้ประกอบการ ร่วมออกบูธในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยวันนี้ คืนวันที่ 8 พ.ย. 2565  จัดโซน“Community and Creative Tourism for BCG of Sukhothai” ชูธีม “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนฟ้ามีว่าว บ้านเราสุขโขใจ” ตอกย้ำการท่องเที่ยวยั่งยืนตามรูปแบบ BCG โมเดล

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท. 4) มรดกโลกสุโขทัยศรีสัชนาลัยกำแพงเพชร ร่วมออกบูธกิจกรรมในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย ประจำปี 2565 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งแต่วันนี้ คืนวันลอยกระทง วันที่ 8พ.ย. 2565 เพื่อสร้างการรรับรู้ และเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานมาสัมผัสกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้ชื่อโซนการออกบูธครั้งนี้ว่า “Community and Creative Tourism for BCG of Sukhothai” ชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดสุโขทัย

สำหรับพื้นที่กิจกรรม อพท. ได้จัดสรรพื้นที่ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าและนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทุกวัน โดยได้ตกแต่งสถานที่ที่ให้บรรยากาศกลมกลืนกับโบราณสถานอันทรงคุณค่า ในธีม “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนฟ้ามีว่าว บ้านเราสุขโขใจ” มีฉากหลังเป็นโบราณสถานวัดชนะสงคราม มีสะพานข้ามทุ่งนาข้าวจำลอง ประดับประดาด้วยว่าวพระร่วงทั่วบริเวณ ตกแต่งร้านรวงด้วยผ้าย้อมครามธรรมชาติ และงานหัตถกรรมท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ดร.ประครอง สายจันทร์  ผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 ( อพท. 4) มรดกโลกสุโขทัยศรีสัชนาลัยกำแพงเพชร กล่าววว่า นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในโซน Community and Creative Tourism for BCG of Sukhothai ได้ฟรี (จำกัดจำนวนต่อวัน) โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ DIY ได้แก่ ผ้าย้อมดินพระร่วง ปักด้นมือนกคุ้ม เขียลายปลาสังคโลกบนผ้า เพ้นท์ถุงผ้าด้วยสีเทียน โปสการ์ดสีน้ำ พัดสุขใจ กระทงโบราณ เขียนลายปลาบงานปั้นผงไม้มงคล พิมพ์พระเครื่อง ชมการแสดง การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน และยังสามารถเลือกชมและซื้อสินค้าท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

ทั้งนี้สินค้าและกิจกรรมที่ชุมชนและผู้ประกอบการมานำเสนอภายในงานนั้น ได้รับการคัดเลือกจาก อพท.4 โดยมีหลักเกณฑ์ ได้แก่ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำหัตถกรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด และใช้วัฒนธรรมชุมชนมาสร้างสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเปาหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs(Sustainable Development Goals) ต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *