ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ สัญญาประกันภัยสุขภาพตามมาตรฐานใหม่ โดยเริ่มใช้รับประกันภัยกับลูกค้ารายใหม่ทุกราย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้ทุกบริษัทประกันภัยต้องกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกัน และมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี วิธีการรักษาทางการแพทย์และวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความยั่งยืน เป็นธรรม รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทย

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลการรับประกันภัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่ามี 2 ประเด็นที่สำคัญของการรับประกันภัยสุขภาพที่เกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยผู้สูงอายุในขณะนี้ คือ

ประเด็นแรก กรณีเมื่อผู้ขอเอาประกันภัยป่วยมาแล้ว หรือเป็นโรคมาแล้ว มาขอทำประกันภัยสุขภาพ บริษัทประกันภัยจะเข้มงวดในการรับประกันภัยเป็นอย่างมาก และอาจมีการปฏิเสธการรับประกันภัย หรืออาจกำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัยว่าไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน พร้อมทั้งคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีความเสี่ยงภัยของการป่วยที่มากกว่าความเสี่ยงภัยมาตรฐานทั่วไป เนื่องจากผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่ต้องเสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติ หรือผู้สูงอายุบางรายมีโรคประจำตัว จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าถึงประกันภัยสุขภาพได้ค่อนข้างยาก

ประเด็นที่ 2 สัญญาประกันภัยสุขภาพที่เสนอขายกันในปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้ว เป็นสัญญาที่ให้ความคุ้มครอง
ค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งการบาดเจ็บ และการป่วยในทุกโรค ไม่ได้มีสัญญาประกันภัยสุขภาพที่ออกแบบให้คุ้มครอง
ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นแบบเฉพาะกลุ่มโรค หรือเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็ก

สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและความจำเป็นที่จะต้องจะดูแลประชาชนผู้สูงอายุให้เข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพอย่างแท้จริง จึงได้กำหนดประชุมหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อจัดทำแผนดำเนินงาน (Action Plan) ให้ชัดเจนในการดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาในเรื่องการประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์โดยเฉพาะสำหรับการรับประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติในการเสนอขายประกันภัยสุขภาพผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

และการส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ทำประกันภัยสุขภาพมาก่อน หรืออาจจะเคยขอทำประกันภัยสุขภาพแล้วถูกปฏิเสธ เนื่องจากมีโรคประจำตัว หรือบางรายอาจเคยทำประกันภัยสุขภาพมาแล้ว แล้วถูกปฏิเสธการขอต่ออายุสัญญา เนื่องจากป่วย แต่ในปัจจุบันได้รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายดีแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกหลาย ๆ ทางเลือกให้กับประชาชนให้ได้เข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพ ภาคสมัครใจ ตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจประกันภัยได้มีการเสนอทางเลือกมายังสำนักงาน คปภ. รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดยอาจให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Copayment) หรืออาจจะกำหนด การให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบเฉพาะโรค ซึ่งเป็นโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เป็นกลุ่มโรคที่เหมาะสม เป็นกลุ่มโรคที่มักมีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุ

ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพในรูปแบบเฉพาะนี้ จะช่วยเรื่องเบี้ยประกันภัยที่ถูกลง ทำให้ผู้สูงอายุ หรือลูกหลาน สามารถชำระเบี้ยประกันภัยสุขภาพได้ และยังเป็นการขยายแนวทาง การรับประกันภัยสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุให้มากขึ้นต่อไป ช่วยส่งเสริมให้สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศไทยมีหลักประกันภัยด้านสุขภาพที่คุณภาพชีวิตที่ดี และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมความพร้อมที่จะหารือกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพตามมาตรฐานใหม่และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่จะแก้ Pain Point เรื่องประกันภัยสุขภาพสำหรับประชาชนผู้สูงอายุ

อันจะส่งผลให้ประชาชนผู้สูงอายุในประเทศไทย สามารถบริหารค่าใช้จ่ายในยามเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนผู้สูงอายุในวัยเกษียณเข้าถึงและใช้ระบบประกันภัยสุขภาพเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *