ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง
หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งอีกต่อไปแล้ว
ESG คือเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ และเป็นเทรนด์ใหญ่ระดับโลกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นพอพูดถึง ESG จะไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน
การนำ ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ SME ในช่วงแรกอาจจะทำให้มี costs ที่สูง แต่สิ่งนี้จะส่งผลดีในระยะยาวทั้งด้านกำไร ชื่อเสียง และการดำเนินงานให้แก่การดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน ถ้าลองสังเกตข่าวจากทั่วโลก เราจะเริ่มเห็นการปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนกันมากขึ้น สร้างภาพลักษณ์ขององค์กรตัวเองในมุมนี้กันมากขึ้น
การวิจัยโดย Aldermore Bank พบว่า SME ในสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนอีก 27% ให้กับการใช้จ่ายด้านความยั่งยืนในปี 2023 และจากการสำรวจของรายงาน The SME Finance Survey 2022 ระบุว่า 46% ของ SME ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับสูงสุดในปี 2023
ทำไม SME ทั่วโลกถึงต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และนี่คือ 3 เหตุผลที่ว่าทำไมเรื่อง ESG ถึงจำเป็นกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
1. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
การสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และดึงดูดลูกค้าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่หลายธุรกิจปักธงไว้ ในการสำรวจล่าสุด 70% ของผู้บริโภค กล่าวว่า ความยั่งยืนมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และความรู้สึกที่ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต
จากรายงานผู้บริโภค และความยั่งยืนของ IRI และ NPD Group ร่วมกับ NYU Stern Center for Sustainable Business (CSB) ระบุว่าสินค้าด้านความยั่งยืนเติบโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึง 2.7 เท่า เพิ่มขึ้น 7.34% ตั้งแต่ปี 2015 ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนา ต่อยอดกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โดย Joan Driggs , vice president, Content and Thought ของ IRI กล่าวว่าจากตัวเลขดังกล่าว ทำให้บริษัทออกผลิตภัณฑ์ด้านควายั่งยืนเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2017
2. ช่วย SME ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดต้นทุน
การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น SME ที่ทำธุรกิจร้านอาหารสามารถติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่น มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา การหยุดชะงักของอุปทาน และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน น้ำ และอาหารอีกด้วย
ยกตัวอย่าง ‘Colonial Bowling & Entertainment’ เป็นศูนย์รวมความบันเทิงในลอว์เรนซ์วิลล์ รัฐนิวเจอร์ซี ที่มีร้านอาหาร บาร์ มินิโบว์ลิ่งข้างใน หลังจากมีเทรนด์เรื่อง ESG เข้ามา ทางร้านก็ได้มีการปรับตัว อาทิ เปลี่ยนระบบไฟทั้งหมดเป็นไฟ LED ที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งทางเจ้าของก็มองว่าจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่า 101,000 kWh เลยทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังทำการรีไซเคิลกระดาษ แก้ว น้ำมันปรุงอาหาร หรือแม้พินโบว์ลิ่งอีกด้วย
3. ช่วย SME พัฒนา และดึงดูดคนทำงานได้มากขึ้น
ปัจจุบันคนทำงานมองหาองค์กรที่ใส่ใจเรื่องของ ESG มากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ดังนั้นถ้าธุรกิจของเราหันมาโฟกัสเรื่องนี้ ก็จะดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ มี Talent ใหม่ ๆ ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ESG ยังสามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงบวกที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ยกตัวอย่างองค์กรไทยที่เห็นภาพชัดในเรื่องนี้อย่าง ‘ศรีจันทร์’ แบรนด์ที่กลายเป็นไวรัลในช่วงเวลาหนึ่ง จากการประกาศสวัสดิการเพิ่มวันลาผ่าตัดแปลงเพศ-ลาคลอด 180 วัน, ลาดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอด, ลาพักใจ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสวัสดิการเหล่านี้คิดมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งฝั่ง SME ก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่ามีเหตุผลอีกมากมายที่ ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน SME แต่ในหลาย ๆ บทความ หลาย ๆ กระทู้ ก็มีคนตั้งคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่าแล้วคนตัวเล็กที่ไม่ได้มีทุนมาก มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด จะผลักดัน ESG ให้เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นี้ได้อย่างไร?
มาลองดู 5 Steps เบื้องต้นที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้กัน
1. วิเคราะห์ธุรกิจของคุณเอง
เริ่มต้นแบบง่าย แต่ทำจริงอาจจะไม่ง่าย นั่นก็คือวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์โดยรอบว่ามีเส้นทางอย่างไรบ้าง มีจุดไหนที่สร้างผลบวก ผลลบ แล้วเราจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากจุดไหนได้บ้าง รวมไปถึงการทำแบบสอบถามกับพนักงานก็จะช่วย
ซัพพอร์ตเรื่อง ESG ได้ดีเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วย
2. ตั้งเป้าหมายเรื่อง ESG ให้ชัดเจน
ควรตั้งเป้าหมาย แบบ SMART คือเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้ ทำได้จริง มีกรอบเวลาที่ชัดเจน เริ่มต้นอาจจะเริ่มจากเป้าหมายใกล้ ๆ ก่อนที่สามารถเริ่มต้นได้ทันที เริ่มทำได้เลย
3. ขอคำแนะนำและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับธุรกิจ SME ที่รู้สึกว่าไม่รู้จะเริ่มจากไหนดี การวิ่งหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง ESG ก็อาจช่วยลดข้อผิดพลาด
ลดความเสี่ยงได้มากกว่า ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานรัฐที่มีส่วนสนับสนุนการนำ ESG เข้ามาผนวกในองค์กร อาทิเช่น ในประเทศไทยก็มีการจัดงานเสวนาฟรีมากมาย เพื่อให้ความรู้ในเรื่องนี้ ในหลายมุมมอง ล่าสุดบริษัทพีเอ็มจีฯ ก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม ESG Universe เพื่อให้ความรู้ด้าน ESG และยังมีการร่วมมือกับนักวิชาการ องค์กรภาครัฐ และภาคสังคม
จัดทำ ESG Solution เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถวางแผนขับเคลื่อน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
4. เริ่มต้นประยุกต์ใช้ ESG กับธุรกิจ
อย่างที่บอกว่าลองเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อน เพื่อที่จะวัดผล และพัฒนากลยุทธ์นี้ขยายไปในภาพรวมของธุรกิจต่อไป อาทิ คุณทำร้านอาหาร เริ่มจากการเปลี่ยนวัสดุของหลอด ภาชนะต่าง ๆ เป็นแบบที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
5. ทำ ESG Reporting & Monitoring
คือการทำรายงาน และติดตามผลอยู่เสมอ การทำรายงาน ESG จะช่วยสนับสนุนธุรกิจได้หลายอย่าง เช่น ช่วยให้ธุรกิจของเราดึงดูดนักลงทุน และลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้ โดยพบว่า 79% ของผู้บริโภค คิดว่าธุรกิจควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้างมากกว่าแค่การทำกำไร
ตอนนี้ ESG ไม่ใช่แค่ buzzword อีกต่อไป แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ และยังสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย
ถ้าได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับ ESG ในหลาย ๆ แง่มุมจะพอเห็นว่าความจริงธุรกิจหลายแห่งก็เริ่มหันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม โปรโมทเรื่องความหลากหลายในองค์กรกันมากขึ้น และในหลายกรณีศึกษาขององค์กรใหญ่ บางอย่างก็สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจขนาดเล็กได้ด้วยเช่นเดียวกัน จากตัวเลขที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นของผู้บริโภคสายรักษ์โลก กระแสโลกต่าง ๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าท้ายที่สุดทุกธุรกิจก็จะต้องขยับมาทำเรื่องนี้กันในที่สุดในทางใดทางหนึ่ง