ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดปี 2566 ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าหุ้น เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังสูง ธนาคารกลางยังเดินหน้าดึงสภาพคล่องจากระบบแม้อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นจนใกล้จุดสูงสุดแล้ว แนะเข้าซื้อรับอัตราผลตอบแทน 4% สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า นโยบายการเงินยังอยู่ในโหมดเข้มงวด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและยังมีความเสี่ยงหลายด้าน
ด้านนโยบายการเงินยังนับว่าอยู่ในโหมดเข้มงวด แม้ดอกเบี้ยยังอยู่ในขาขึ้น แต่ก็ใกล้จุดสูงสุดแล้ว ธนาคารกลางส่วนใหญ่น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรกเพื่อดูสถานการณ์ก่อน ในขณะที่การดูดสภาพคล่องออกจากระบบยังดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี
ส่วนเงินเฟ้อ คาดว่า ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และจะเริ่มลดลงชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังน่าจะทรงตัวอยู่เกินกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ซึ่งทำให้ธนาคารกลางยังต้องคงดอกเบี้ยสูงและไม่สามารถกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้แม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงต่อ เนื่องจากผลของเงินเฟ้อสูงที่กดดันการบริโภค รวมถึงผลของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปีนี้ ซึ่งกดดันภาคการลงทุน ในขณะที่การขาดแคลนพลังงานในยุโรป และนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดของจีน รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา
นายคมศรกล่าวว่า ในภาวะเช่นนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้น ในขณะที่ความเสี่ยงยังต่ำกว่ามาก โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มอง Bond Yield สหรัฐฯ ที่ระดับ 4% ในปัจจุบันนั้นเป็นให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ และได้สะท้อนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว และหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปหยุดที่ 5% ในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้าตามคาด Bond Yield น่าจะทรงตัวอยู่ระดับใกล้เคียง 4% ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลงในปีหน้าตามการทยอยลดลงของอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
ในขณะที่ตลาดหุ้นแม้จะปรับฐานลงมามากกว่า 20% จากจุดสูงสุด แต่ Valuation ยังนับว่าไม่ได้ถูก โดยค่า P/E ของดัชนี S&P 500 ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 15 เท่า ซึ่งนับว่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงปี 2003 – 2014 ที่ 14 เท่า ก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำจะดันให้ตลาดขึ้นมาเทรดที่ค่าเฉลี่ย P/E 18 เท่าในช่วงปี 2015 – 2021 นอกจากนั้น หากเทียบกับจุดต่ำสุดของตลาดหมี (Bear Market) ในอดีตที่ P/E เฉลี่ย 13 เท่า ตลาดหุ้นก็อาจมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานลงได้อีก หากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ
จากประเด็นข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้จึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความเสี่ยง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและยังมีความเสี่ยงหลายด้าน
“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ขาลงของตลาดหุ้นยังไม่สิ้นสุดจาก Valuation ที่แพง และแรงกดดันจากการปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการบริษัท แต่ในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจปรับลดลงจำกัด จากสถานะการถือครองของผู้เล่นในตลาดหลายประเภทที่มีหุ้นในสัดส่วนน้อย ขณะที่ตราสารหนี้มีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าหุ้น จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอยู่ในระดับที่สูงมาก โดย Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ยืนอยู่ที่ระดับ 4% สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะสูงสุดที่ราว 4% และมีแนวโน้มที่จะลดลง (ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น) ตามแนวโน้มเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในพันธบัตร ” นายคมศรกล่าว