กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.79 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.62-36.88 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนตามราคาทองคำในตลาดโลก เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75bp สู่ระดับ 2.25-2.50% ด้วยเสียงเอกฉันท์

โดยระบุว่าการใช้จ่ายและการผลิตชะลอตัวลงแต่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้น ขณะที่เฟดให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงด้านขาขึ้นของเงินเฟ้อเป็นหลักและเฟดคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคตยังคงมีความจำเป็น นอกจากนี้ เฟดจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage-backed Securities) โดยเฟดมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่ได้ยกเลิก Forward Guidance ในการส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยสำหรับครั้งถัดไปและหันมาใช้การประเมินข้อมูลเศรษฐกิจแทน

นอกจากนี้ ตลาดพันธบัตรสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากจีดีพีไตรมาส 2 หดตัว 0.9% หลังจากที่หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,376 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 1,921 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญหลายรายการ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมของสหรัฐฯ หลังประธานเฟดกล่าวว่าการตัดสินใจด้านนโยบายจะปรับสู่โหมด Data Dependency

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ระดับ 1.75% ในภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้จะกดดันค่าเงินดอลลาร์โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินเยน อย่างไรก็ดี ในบริบทเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อที่แม้จะมีแนวโน้มปรับตัวลงแต่ยังคงอยู่ที่ระดับสูงอาจจำกัดการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงได้เช่นกัน  

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมิถุนายนขาดดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับที่ขาดดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/65 ได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อนึ่ง เราคาดว่าท่าทีของเฟดที่เริ่มเปลี่ยนไปบ้างน่าจะหนุนกระแสเงินทุนไหลเข้าได้ในระยะนี้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *