สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนในปัจจุบัน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ โดยกำหนดลักษณะตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ ให้หมายถึง ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเป็นผู้ออกตั๋วเงิน และให้ไว้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ซื้อเพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิตามตั๋วเงิน โดยมีการชักชวนหรือโฆษณาเกี่ยวกับการออกตั๋วเงิน และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนจากบุคคลทั่วไปเกินกว่า 10 ราย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง* ยกเว้นตั๋วเงินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ตั๋วเงินที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายทั้งจำนวน ผู้รับอาวัลผู้ออกตั๋วเงินทั้งจำนวน หรือผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ออกตั๋วเงินดังกล่าว
2. ตั๋วเงินที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว** ได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
________________________
หมายเหตุ:
*นับรวมกับบุคคลที่ถือตั๋วเงินทั้งหมดที่ออกโดยบริษัทและยังไม่มีการไถ่ถอน
**ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 5/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ (https://publish.sec.or.th/nrs/10077s.pdf)
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 6/2567 เรื่อง การยกเว้นการยื่นแบบแสดง รายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/10078s.pdf)
.
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตั๋วเงิน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตั๋วเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงลักษณะของตั๋วเงินที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์
ตามที่ ก.ล.ต. ได้ทบทวนหลักการกำกับดูแลตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยกำหนดให้ตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ หมายถึง ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเป็นผู้ออกตั๋วเงินและให้ไว้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ซื้อเพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิตามตั๋วเงินดังกล่าว โดยมีการชักชวนหรือโฆษณาเกี่ยวกับการออกตั๋วเงิน และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนจากบุคคลทั่วไปเกินกว่า 10 ราย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง โดยนับรวมกับบุคคลที่ถือตั๋วเงินทั้งหมดที่ออกโดยบริษัทและยังไม่มีการไถ่ถอน*
ก.ล.ต. จึงเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตั๋วเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตั๋วเงินแบบ PP10 (Private Placement: PP10)** ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงหลักการกำกับดูแลตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์
(2) ปรับปรุงถ้อยคำของหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตั๋วเงินให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=972 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
________________________
หมายเหตุ:
*ไม่รวมถึงตั๋วเงินที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายทั้งจำนวน ผู้รับอาวัลผู้ออกตั๋วเงินทั้งจำนวนหรือผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ออกตั๋วเงินดังกล่าว และตั๋วเงินที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
**การเสนอขายตั๋วเงินแบบ PP10 หมายถึง การเสนอขายตั๋วเงินต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
1) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน จำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใด ๆ
2) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ จำนวนไม่เกิน 10 ราย และมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง
ทั้งนี้ ตั๋วเงินที่เสนอขายต้องมีจำนวนไม่เกิน 10 ฉบับ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะมีจำนวนผู้ลงทุนถึง 10 รายหรือไม่ก็ตาม