เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับผลการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ตราสารหนี้ AT1) ซึ่งธนาคารได้ออกและเสนอขายในตลาดต่างประเทศ โดยการทำคำเสนอซื้อคืนเป็นการทั่วไป หรือ Tender Offer เพื่อซื้อคืนตราสารหนี้บางส่วน (Partial Repurchase) ก่อนกำหนด

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินการทำ Tender Offer ในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 3พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา และได้รับซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 125,373,000ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ากรอบที่วางไว้ในตอนต้นที่ 120,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนตอบรับคำเสนอซื้อดีกว่าที่คาดไว้ จึงมองเป็นโอกาสและตัดสินใจซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะพิจารณาแล้วว่ายังอยู่ในกรอบที่รับได้และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับเงินกองทุน และที่ผ่านมาธนาคารดำรงฐานะเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด

เมื่อรวมการซื้อคืนจากการทำ Tender Offer กับการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ที่ได้ดำเนินการซื้อคืนมาบางส่วนจากตลาดรองในต่างประเทศ (Open Market Repurchase) ในช่วงก่อนหน้า จำนวนรวม 28,960,000ดอลล่าร์สหรัฐ จะรวมเป็นมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ที่ซื้อคืนทั้งสิ้น 154,333,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 38.58% ของจำนวนเงินต้นรวมทั้งหมดของตราสารหนี้AT1

ทั้งนี้ การทำธุรกรรมการซื้อคืนดังกล่าว ไม่มีผลต่อระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1)ของธนาคาร และในเบื้องต้นประเมินว่าอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1(Tier 1) จะลดลงไม่เกิน 0.4% หรือ 40 basis point ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 อัตราส่วน CAR และอัตราส่วน Tier 1 อยู่ที่ 20.0% และ 16.0% ตามลำดับ การลดลงในระดับดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อการดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0%และ 9.5% แต่อย่างใด

นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวสรุปว่า ภายใต้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทยอยเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อลดการแข่งขันด้านเงินฝากและช่วยในการบริหารต้นทุนทางการเงินเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น

นอกจากนั้น ยังได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนการลงทุน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากภาวะตลาดและทิศทางดอกเบี้ย นอกเหนือจากการดำเนินการเหล่านี้ ธนาคารก็มีแผนงานอื่น ๆ ที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาเงินทุน ซึ่งมองว่าจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนรายได้และบริหารค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *