ฟิทช์ เรทติ้งส์ เชื่อว่ามาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาลที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งขยายการช่วยเหลือให้ครอบคลุ่มกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบางในประเทศไทย ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการหรือโครงสร้างเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFIs) เนื่องจากขอบเขตของมาตรการที่ยังจำกัด รวมทั้งอาจจะมีการตั้งสำรองไปบ้างแล้ว และเงินชดเชยที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

 

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้เป็นมาตรการที่ขยายขอบเขตการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากมาตรการแรกที่ได้ประกาศใช้ในเดือนธันวาคม 2567 ซี่งมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทลูกของธนาคาร โดยฟิทช์ได้กล่าวถึงรายละเอียดของผลกระทบไว้ในประกาศ Fitch Wire เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เรื่อง “โครงสร้างเครดิตของธนาคารไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้” (https://www.fitchratings.com/site/pr/10294793) ในขณะที่มาตรการล่าสุดนี้ได้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือไปสู่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ที่ไม่ได้เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ทั้งนี้มีบริษัทที่ได้ยืนยันการเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 2 รายได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (BB/A-(tha)/อันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (A-(tha)/อันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และฟิทช์คาดว่าอาจมีบริษัทอื่นเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มเติม

 

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการนี้จะได้รับเงินอุดหนุนในรูปแบบของเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ที่ 0.01% จากสถาบันการเงินของรัฐบาลซึ่งคือ ธนาคารออมสิน (GSB) ในขณะที่ธนาคารและบริษัทในเครือจะได้รับเงินอุดหนุนจากการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม วงเงินกู้จาก GSB ถูกจำกัดเพดานไว้ที่ 5 พันล้านบาทต่อราย และมีวงเงินรวมสำหรับโครงการสินเชื่อ soft loan ที่ 5 หมื่นล้านบาทซึ่งก็จำกัดผลกระทบของมาตรการนี้

 

ฟิทช์คาดว่าเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือนี้อาจจำกัดจำนวนลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจจะคล้ายกับธนาคารและบริษัทลูกที่ลูกหนี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการมากนักอย่างที่คาดการณ์ โดยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าโครงการจะต้องเป็นหนี้ที่ทำสัญญาก่อนปี 2567 และมีสถานะค้างชำระหนี้  ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่เป็นระยะเวลา 12 เดือน ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายในการได้รับการช่วยเหลือคิดเป็นยอดหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่า 3% ของสินเชื่อรวมของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร)  แต่ฟิทช์คาดว่าจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจริงอาจจะน้อยกว่าประมาณการดังกล่าว

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้ เป็นโครงการที่เปิดให้เข้าร่วมสมัคร ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสินเชื่อวงเงินผ่อนชำระจะมีการปรับลดภาระผ่อนชำระค่างวดลง 30% เป็นระยะเวลาสามปี ซึ่งอาจรวมไปถึงการลดเงินต้นด้วย สำหรับสินเชื่อหมุนเวียน จะถูกแปลงเป็นการผ่อนชำระรายเดือน โดยกำหนดให้มีการชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 2% ของยอดคงค้างสินเชื่อก่อนเข้าร่วมมาตรการ

 

ทั้งนี้ธนาคารออมสินจะช่วยสนับสนุนเงินชดเชยการลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ที่ 90% และจะไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลดค่างวดชำระ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายนั้นจะเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น Stage 2 หรือ Stage 3 ซึ่งมีการตั้งสำรองไว้แล้ว นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีโครงการช่วยเหลือดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการสินเชื่อเพื่อการบริโภคก็น่าจะมีการให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้าที่มีปัญหา

 

ฟิทช์ไม่คาดว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต ฟิทช์คาดว่าอันดับเครดิตของสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมหภาคมากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และรายได้ของบริษัท

 

ฟิทช์เชื่อว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ 89% ของ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2567 ทั้งนี้ผู้ประกอบการสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะยังคงมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตหรือผลประกอบการได้ในอนาคต

 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *