ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F1’ อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่ ‘bbb+’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb’

 

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตพิจารณาจากการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น: อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (SSR) ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) จากกลุ่มบริษัทแม่ที่อยู่ในลำดับสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. (‘MUFG, A-‘ /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) อันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ BAY ที่ ‘F1’ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่านั้น สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนมีความแน่นอนมากกว่าในระยะสั้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศ ยังพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างอันดับเครดิตของ BAY เทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ และบ่งชี้ถึงระดับของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดในประเทศไทย

 

มีบทบาทที่สำคัญกับกลุ่มบริษัทแม่: อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าธนาคารมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจในภูมิภาคของกลุ่ม BAY มีการร่วมมือในการดำเนินงานกับกลุ่มผ่านการให้บริการด้านการเงินในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่น

 

ธนาคาร MUFG (MUFG Bank; ‘A’ /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 76.9% ใน BAY และมีการร่วมมือกันด้านกลยุทธ์ การผสานการดำเนินงาน และการเชื่อมโยงด้านการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มยังได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ BAY ในด้านสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย โดยให้ BAY เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการขยายธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยของกลุ่มในประเทศต่างๆ ในภุมิภาค เช่น อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ความสามารถของกลุ่มในการให้การสนับสนุนแก่ BAY สะท้อนจากอันดับเครดิตสากลของกลุ่มบริษัทแม่สูงสุด ซึ่งคือ MUFG โดยฟิทช์มองว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยินยอมให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่ธนาคารแม่จะได้รับนั้นส่งผ่านมายังบริษัทลูกในต่างประเทศได้ด้วย  ซึ่งรวมถึง BAY

 

แนวโน้มการเติบโตค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น: แนวโน้มของธุรกิจธนาคารในประเทศไทย ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตอาจจะปรับตัวดีขึ้นอีกได้ไม่มากนัก เนื่องจากฟิทช์ยังคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักที่  2.6% ในปี 2567 ฟิทช์ให้อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ ‘bbb’ ซึ่งเป็นในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งจะอยู่ในกลุ่ม ‘bb’ ตามเกณฑ์การพิจารณาของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทย (BBB+/Stable) จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและและระบบการเงิน

 

มีเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ: BAY เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ 11% และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญในเชิงระบบของประเทศไทยอันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร ที่ ‘bbb’ สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลาย (diverse) เป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย รวมถึงการผสานความร่วมมือกันด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์กับ MUFG

 

รายได้ที่ค่อนข้างทรงตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ BAY มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.0% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2567(จาก 2.1% ในปี 2566) เนื่องจากแรงกดดันจากการตั้งสำรองหนี้สูญ ซึ่งคิดเป็น  51% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนการสำรองหนี้สูญ ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าโอกาสในการปรับตัวดีขึ้นของความความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้นค่อนข้างมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหลักด้านรายได้น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนปัจจัยด้านรายได้และความสามารถในการทำกำไรที่ ‘bbb-‘

 

โครงสร้างความเสี่ยงระดับปานกลาง: อันดับคะแนนโครงสร้างความเสี่ยงของ BAY ที่ ‘bbb’ สะท้อนถึงความสม่ำเสมอในระยะยาวของคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารแต่ยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่านบริษัทลูกในต่างประเทศ สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วนเป็น 48% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร แต่ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารยังประกอบด้วยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำและมีสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทย

 

คุณภาพสินทรัพย์ปรับด้อยลง: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% ณ สิ้น

ไตรมาสที่ 1  ปี 2567 (2566: 3.3% ) ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อด้อยคุณภาพในต่างประเทศ รวมถึงแรงกดดันจากสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโรคระบาดโควิดที่สิ้นสุดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูงในอดีตและอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับที่ยอมรับได้ที่ 128%

 

ฐานะเงินกองทุนช่วยรองรับความเสี่ยง: อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ BAY อยู่ที่ 16.0% ณ สิ้นไตรมาสที่  1 ปี 2567 ( 2566: 16.0%) ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมและธนาคารขนาดใหญ่อื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต อันดับคะแนนปัจจัยด้านฐานะเงินกองทุนและระดับหนี้สินของธนาคารที่ ‘bbb’ และมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘บวก’ สะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่าอันดับคะแนนด้านฐานะเงินกองทุนอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับให้สอดคล้องกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น หากธนาคารสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ให้ทรงตัวอยู่ในสูงเช่นในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่องจากกำไรสะสม ถึงแม้ว่าการเติบโตของสินทรัพย์อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

โครงสร้างการระดมเงินทุนพิจารณารวมความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทแม่: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ BAY ที่ ‘bbb+’ พิจารณาถึงการสนับสนุนในการดำเนินงานตามปรกติจาก MUFG ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเงินฝากของธนาคาร บริษัทแม่มีการให้วงเงินสินเชื่อโดยตรงแก่ธนาคาร เพื่อสนับสนุนการระดมเงินทุนของธนาคาร รวมไปถึงการสนับสนุนจากกลุ่มในด้านการบริหารจัดการด้านสภาพคล่องของธนาคาร

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นถูกปรับลดอันดับ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นอาจถูกปรับลดอันดับเครดิตได้ หากมีการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของ BAY กับบริษัทและธนาคารรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอีกด้วย

 

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY อาจได้รับการปรับลดอันดับ หากสมมุติฐานในการให้การสนับสนุนจากบริษัทแม่มีการปรับตัวด้อยลง ตัวอย่างเช่น การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG จะสะท้อนถึงความสามารถในการสนับสนุนที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY

 

นอกจากนี้ การปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่าง MUFG และ BAY สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสในการให้การสนับสนุนที่ลดลง และนำไปสู่ผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ MUFG ลงมาต่ำกว่า 50% ควบคู่ไปกับการลดระดับการควบคุมกิจการ การร่วมมือในการดำเนินงาน และการเชื่อมโยงด้านการตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะกลาง

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับได้ จากการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงสร้างทางการเงินของ BAY ซึ่งอาจจะสะท้อนได้จากโครงสร้างธุรกิจ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารที่อ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย 4 ปี ที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 4% (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.8%) ควบคู่ไปกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ต่ำกว่า 13% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 4 ปีที่ต่ำกว่า 1.5% (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.9%)

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกลุเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวขึ้นเป็น ‘A’ หรือ สูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจถูกจำกัดจากเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘A-‘

 

ไม่มีโอกาสที่อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอยู่ในระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

 

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หาก MUFG มีความสามารถและมีโอกาสที่จะให้การสนับสนุนแก่ BAY เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG จะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน ในกรณีที่สมมุติฐานอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ในระยะปานกลางฟิทช์มองว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจจะมีโอกาสที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับการมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งขึ้นและนำไปสู่การความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวและการมีฐานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย ที่ต่ำกว่า 2% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่สูงกว่า 16% ได้อย่างต่อเนื่องและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ใกล้เคียง 3.5% อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทและโครงการ MTN หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ BAY ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้ อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวสะท้อนถึงภาระผูกพันที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ ซึ่งก็คืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นอยู่ 2 อันดับ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ก่อนจะถึงจุดที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และยังสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสาหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น คุณสมบัติของการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย ทั้งนี้การจัดอันดับเครดิตยังสอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาของฟิทช์สำหรับตราสารประเภทนี้ และสอดคล้องกับการพิจารณาการจัดอันดับเครดิตของตราสารที่มีลักษณะคล้ายกันในประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ โครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทหรืออันดับเครดิตของโครงการ MTN ของ BAY ไม่มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งก็คือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ในระดับที่สูงสุดแล้วสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ

 

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีโอกาสที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับอีก เว้นแต่ฟิทช์ประเมินว่าระดับการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity) ในกรณีที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ จะได้รับการลดความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าสมมุติฐานดังกล่าวจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ ‘bbb’ อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม ‘bb’ เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน’อันดับเครดิตของประเทศ’

 

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG

 

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสาหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

 

แหล่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิต

แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตมีรายละเอียดเปิดเผยอยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *