ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันเดินหน้าเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 20%  แคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2568 โดยสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2568 นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ลงทุนสหรัฐฯ เพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสดสะท้อนภาวะตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk Off ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงจากสิ้นปีก่อนหน้าถึง 1.4% หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายตลาดหุ้นที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีความเสี่ยงน้อยจากนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงมีปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นเฉพาะตัวและมี Valuation ที่ไม่สูง

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 SET Index อยู่ในช่วงปรับฐานซึ่งลดลงกว่า 17.9% จากระดับสูงสุดในรอบนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับแนวโน้มในอดีต และหากพิจารณามูลค่าพื้นฐานของตลาดพบว่าระดับ P/E อยู่ที่ 12.5 – 16.6 เท่า และ P/BV เพียง 1.2 – 1.4 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบการปรับฐานครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยการปรับฐานของตลาดในรอบนี้หุ้นที่ปรับตัวลดลงมากส่วนใหญ่มาจากกลุ่มหุ้นที่มี P/E Ratio สูง ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดกำลังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและการประเมินมูลค่าหุ้นที่สูงเกินไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนพยายามออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ SET Index โดยเน้นด้านการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง การจำกัดความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงมีปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นโดยเฉพาะการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของ บจ. และยกระดับ CG

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568

  • ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 SET Index ปิดที่ 1,203.72 จุด ลดลง 8.4% จากสิ้นเดือนมกราคม 2568  ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 SET Index ปรับลดลง 14.0%
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มทรัพยากร
  • มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 52,041 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น  10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเห็นสัญญาณเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด ห้าเดือนต่อเนื่อง
  • บริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. มาเธอร์ มาร์เก็ตติ้ง (MOTHER)
  • Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.2 เท่า
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 4.03% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.27%

 

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนกุมภาพันธ์ 2568

  • ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 485,359 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 434,992 สัญญา ลดลง 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Gold Online Futures

 

บจ. mai รายงานผลการดำเนินงาน ปี 2567 ยอดขายรวม 209,453 ล้านบาท กำไรเติบโต 5.5%

บริษัทจดทะเบียน (บจ.ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2567 มียอดขายรวม 209,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ต้นทุนขาย เพิ่มขึ้น 2.9%  และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 0.1%  ทำให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มเทคโนโลยี เป็น กลุ่มอุตสาหกรรรมที่มีผลการดำเนินงานเติบโตทั้งยอดขายและกำไร

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 215 บริษัท คิดเป็น 97% จากทั้งหมด 222 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงาน โดยปี 2567 มี บจ. ที่รายงานกำไรสุทธิจำนวน 152 บริษัท คิดเป็น 71% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

 

ผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ของ บจ. mai เปรียบเทียบกับปีก่อน มียอดขายรวม 209,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ต้นทุนขาย 155,577 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เพิ่มขึ้นจาก 25.1% มาอยู่ที่ 25.7% อย่างไรก็ดี การที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มเพียง 0.1% ส่งผลให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงาน 14,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.9% และมีกำไรสุทธิรวม 5,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5%

ผลการดำเนินงาน บจ. ใน mai งวดปี 2567 พบว่า บจ. มีกำไรสุทธิเติบโตเพียง 5.5% ทั้งที่ผลการดำเนินงาน เดือนปี 2567 ทำผลประกอบการสะสมมาได้ดี แต่เนื่องจากไตรมาส มีรายการอื่นๆ เช่น การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การตั้งด้อยค่าเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ ทั้งนี้หากไม่รวมรายการอื่นๆ ดังกล่าว กำไรสุทธิจะเติบโต 71.8% พบ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตทั้งยอดขาย และกำไรสุทธิ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ และกลุ่มเทคโนโลยี นายประพันธ์กล่าว

 

ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 328,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากสิ้นปี 2566 โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 0.79 เท่า เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่เท่ากับ 0.77 เท่า

 

ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 222 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2568) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 246.45 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 239,893.40 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 672.37 ล้านบาทต่อวัน 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *