นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยถึงภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 8 เดือน ปี 2565 ว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ แต่ SET Index มีความผันผวนน้อยกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักอื่นๆ สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ อีกทั้งผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตดี โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีกำไรสุทธิรวม 3.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ Historical และ Forward PE ratio ของ SET Index ยังมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง บจ. มีโอกาสเพิ่มอัตราจ่ายปันผลสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ทำให้อัตราการจ่ายปันผลในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือน ส.ค. SET Index ปิดที่ 1,638.93 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 4.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค ขณะที่ SET Index ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 1.1%
โดยใน 8 เดือนแรก ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index ได้แก่ กลุ่มบริการ และกลุ่มทรัพยากร โดยในเดือนส.ค. มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 75,205 ล้านบาท ลดลง 18.8% มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 82,747 ล้านบาท โดย ผู้ลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิถึง 57,014 ล้านบาท ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 170,744 ล้านบาท อีกทั้งผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
นอกจากนี้ในเดือน ส.ค. Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย อยู่ที่ระดับ 15.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.2 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 2.78% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3% ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 496,575 สัญญา เพิ่มขึ้น 6.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และในช่วง 8 เดือนแรก TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 548,981 สัญญา เพิ่มขึ้น 3.0%
นายศรพล กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยมองว่า เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจนกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสหรัฐจะผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามหากมองที่ผลกระทบจากการวิเคราะห์ เฟดส่งสัญญาว่าจะดูแเลเงินเฟ้อสหรัฐให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ส่วนผู้ลงทุนคาดว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.5% ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.19% ซึ่งจะเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับโดยการปรับลดลง 1-3% และค่าเงินดอลล่าร์ปรับแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของภาพรวมเศรษฐไทย ซึ่งจากการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามและคาดการณ์ในปี จีดีพี ไทยจะขยายตัวสูงสุดที่ 2.7-3.2% จากแนวดน้มที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 5.7 แสนล้านบาท เป็น 6.8 แสนล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *