ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย ประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ และ ภาคีเครือข่าย จำนวน 23 องค์กร ร่วมประกาศปฏิญญาชาวเกาะเนื่องในวันมหาสมุทรโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยวด้วยการขับเคลื่อนโมเดล Bio Circular Green (BCG):
เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมส่งมอบซั้งปลาให้ชาวประมง เป็นการแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ว่าประชาคมชาวเกาะทั่วประเทศไทยจะร่วมกันปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์และคงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชุมชนชาวเกาะให้คงอยู่ ในวันที่ระดับน้ำทะเลกำลังเปลี่ยนแปลงไป (Protect Ocean: Tides are changing)
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนได้ร่วมจัดการประชุมสัมมนาชาวเกาะ การท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน 2566 : ขับเคลื่อนเกาะบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวจากท้องถิ่นสู่สากล ระหว่างวันที่ 7-10 มิถุนายน 2566 ณ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเดินหน้าต่อยอดโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน
และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยแผนการจัดการที่มีมาตรฐาน กลไกทางการเงิน เศรษฐกิจและสังคม การจัดการเกาะบนฐานองค์ความรู้ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะ และการกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมระหว่างภาคเอกชนสู่ชุมชน รวมถึงสร้างพันธมิตรร่วมพัฒนาเกาะจากท้องถิ่นสู่สากลอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) TEATA และ ศูนย์เรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่า จัดให้มีสถานีขยะ เพื่อคัดแยก จำกัดขยะตามประเภท พร้อมบันทึกและคำนวณจำนวนคาร์บอนตัน ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในงาน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
สอดคล้องกับการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Banking) สร้างการเติบโตให้กับทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีแนวทางขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน